ผลสำรวจคนเกินครึ่งเชื่อ ‘ข่าวปลอม’ เหตุชื่อคล้ายสำนักข่าวใช้คำยั่วให้น่าสนใจ

การวิจัยภายใต้ “โครงการวิจัยการพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชน” โดยการสนับสนุนของกองพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ทำการวิเคราะห์ข่าวปลอม และนำมาพัฒนาต้นแบบเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจจับข่าวปลอม

 

ผลการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวปลอมระหว่างเดือนธันวาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 จำนวน 100 ชิ้น พบว่า ข่าวปลอมอยู่บนแพลตฟอร์มที่มีที่อยู่ (URL) ที่ใช้ชื่อคล้ายสำนักข่าว โดยทำให้คล้ายรายงานข่าวของสำนักข่าวทั่วไป พบบนสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบโพสต์ของบุคคล และบล็อกส่วนบุคคล ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียนข่าว เนื้อหาสั้น ไม่ยาวนัก การเขียนคล้ายข่าวแต่ไม่ถูกต้องตามหลักการเขียนข่าว พาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าวไม่สอดคล้องกัน ไม่ระบุข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน ภาษาที่ใช้ไม่ใช่ภาษาที่ผู้สื่อข่าวทั่วไปใช้ พิมพ์ผิด ตกหล่น วรรคตอนผิด ภาพประกอบข่าวไม่ใช่ภาพเดี่ยวแต่มักใช้ภาพซ้อนภาพ มักใช้คำยั่วให้สนใจ เกินความจริง เช่น “ระวัง” “เตือนภัย” “ข่าวด่วน” “เพื่อน” “คนวงใน” “โปรดกระจายข่าว” “เปิดโปง”

 

ผลการวิจัยเชิงสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,120 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอีก 6 จังหวัดคือ ระยอง เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุบลราชธานี สงขลา และกาญจนบุรี กลุ่มตัวอย่างพบเห็นข่าวปลอมประเภทข่าวให้ความรู้และโพสต์ในระดับมาก ในขณะที่พบเห็นข่าวปลอมประเภทภาพและการแสดงท่าทีในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มอายุ 18-22 ปี และ กลุ่ม 36-45 ปี พบเห็นข่าวปลอมทุกประเภทในระดับมาก กลุ่มตัวอย่างอายุ 23-35 ปี และ กลุ่ม 46-55 ปี พบเห็นข่าวปลอมประเภทข่าวโพสต์ และให้ความรู้ในระดับมาก ทั้งนี้กลุ่มอายุ 56-59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบเห็นข่าวปลอมโดยรวมในระดับปานกลาง

 

ด้านการตอบสนองต่อข่าวปลอมพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการตั้งคำถามกับข่าวปลอม อ่านข่าวปลอมด้วยความรู้สึกเป็นกลาง คิดว่าข่าวปลอมเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหาย แจ้งให้คนอื่นทราบว่าเป็นข่าวปลอม ตรวจสอบข้อเท็จจริง และแสดงความเห็นว่าอาจจะเป็นข่าวปลอม

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเคยหลงเชื่อข่าวปลอมเมื่ออ่านเฉพาะพาดหัวข่าว หรือส่วนนำข่าว คิดเป็นร้อยละ 57.59 และ 52.95 ตามลำดับ เชื่อว่าข่าวปลอมนั้นอาจจะเป็นจริงได้ คิดเป็นร้อยละ 49.29 เลือกอ่านเฉพาะข่าวที่ตนเองสนใจแล้วก็ปักใจเชื่อเลย คิดเป็นร้อยละ 47.32 ปักใจเชื่อแม้จะมีคนโต้แย้งว่าเป็นข่าวปลอม คิดเป็นร้อยละ 46.16 เคยส่งต่อข่าวปลอม คิดเป็นร้อยละ 34.91 และแสดงความเห็นสนับสนุนข่าวปลอม คิดเป็นร้อยละ 20.54

 

ด้านการจัดการข่าวปลอมพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ระบุถูกต้องว่าเป็นข่าวปลอมประเภทโพสต์ของบุคคล พิจารณาจากข้อมูลรายละเอียด อาจจะมีอคติหรือมุ่งโจมตี บัญชีเจ้าของโพสต์ และตอบสนองโดย “ไม่ส่งต่อ” สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ระบุไม่ถูกต้องว่าเป็นข่าวปลอม พิจารณาจากภาพประกอบข่าว ข้อมูลรายละเอียด เรื่องราวเหตุการณ์ และตอบสนองโดย “ส่งต่อ”

 

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าไม่แน่ใจ พิจารณาจากบัญชีเจ้าของโพสต์ ภาพประกอบข่าว และอาจจะมีอคติหรือมุ่งโจมตี และตอบสนองโดย “ไม่ส่งต่อ” รองลงมาคือ “ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่”

ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการปัญหาข่าวปลอม

ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงของประชาชนจากการพบเห็นข่าวปลอม กล่าวคือ กลุ่มอายุ 18-22 ปี และกลุ่ม 36-45 ปี พบเห็นข่าวปลอมระดับมาก ขณะที่กลุ่มอายุ 46-55 ปี พบเห็นข่าวปลอมประเภทให้ความรู้ในระดับมาก และกลุ่มผู้สูงอายุพบเห็นข่าวปลอมในระดับปานกลาง ดังนั้นแนวทางการแก้ไขข่าวปลอมจำเป็นต้องดำเนินการแยกเฉพาะในแต่ละกลุ่มวัย และควรให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนและวัยหนุ่มสาวเป็นกลุ่มแรกเพราะที่มีโอกาสพบความเสี่ยงจากข่าวปลอม รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

 

ประเด็นการตอบสนองต่อข่าวปลอม ผลวิจัยชี้แนะแนวทางว่า ควรให้ความสำคัญกับการปรับพฤติกรรมการอ่านข่าว โดยกระตุ้นให้ประชาชนอ่านข่าวอย่างละเอียด พิจารณามากขึ้น ไม่ควรอ่านเฉพาะพาดหัวข่าวหรือส่วนนำข่าว และควรสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องอคติที่มีต่อข่าว โดยเตือนให้ระลึกเสมอว่า ความคิด ความเชื่อที่มองว่าข่าวปลอมนั้นอาจจะเป็นจริงได้ ไม่เลือกอ่านเฉพาะข่าวที่ตนเองสนใจแล้วก็ปักใจเชื่อเลย ไม่ปักใจเชื่อแม้จะมีคนโต้แย้งว่าเป็นข่าวปลอม จะช่วยให้ไม่หลงเชื่อข่าวปลอมได้

 

ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มมีการตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตนเองเมื่อมีเครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตนเองที่ใช้งานสะดวก ง่าย ทราบผลการตรวจสอบทันที สะท้อนให้เห็นพฤติกรรม “การตรวจสอบข่าวก่อนส่งต่อ” ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่สำคัญในการช่วยลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม และช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอมได้

 

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการกระตุ้นและช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวปลอมได้สะดวก และได้รับทราบผลการตรวจสอบที่ถูกต้อง เว็บแอปพลิเคชันตรวจวิเคราะห์ข่าวปลอมจึงมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่องทั้งในด้านความถูกต้องในการวิเคราะห์ และความสามารถในการวิเคราะห์ทั้งข้อความ ภาพข่าว และทันต่อการเปลี่ยนแปลงข่าวปลอมในอนาคต รวมทั้งการขยายการพัฒนาไปสู่โปรแกรมเสริมสำหรับการตรวจสอบข่าวปลอมที่ใช้งานง่าย เช่น ออกแบบเป็นส่วนเสริมของโปรแกรมที่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ที่ประชาชนใช้ท่องอินเทอร์เน็ต จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมการตรวจสอบข่าวปลอมก่อนส่งต่อ และส่งเสริมให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เป็นนิสัยเคยชินของประชาชน

การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันตรวจสอบ ทางโครงการฯ ได้จดโดเมนเนมชื่อ thaidimachine.org เปิดให้ประชาชนใช้งานผ่าน www.thaidimachine.org โดยการพิมพ์ข้อความหรือคัดลอก (copy) ข่าวหรือเนื้อหาที่ต้องการตรวจสอบวางลงในกล่องข้อความ แล้วกดตรวจสอบข่าว เครื่องจะทำการประมวลผลและแสดงผลลัพธ์การวิเคราะห์ข่าว โดยแสดงผลลัพธ์เป็น ข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวน่าสงสัย มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวจริง หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวปลอม พร้อมกับแสดงลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้องให้ผู้ตรวจข่าวได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับข่าวหรือเนื้อหานั้น ๆ ที่ได้กดตรวจสอบไป

 

นอกจากการวิเคราะห์ข่าว ระบบยังทำการรวบรวมข่าวปลอม ข่าวที่กำลังมีผู้สนใจ และข่าวภาครัฐ โดยระบบ THAI D.I. MACHINE จะเก็บรวบรวมลิงก์จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ไว้โดยอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งานในการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เช่น https://www.antifakenewscenter.com https://sure.oryor.com เป็นต้น ด้านความปลอดภัยของเว็บแอปพลิเคชัน ระบบมีฟังก์ชันการล็อกอิน/ลงทะเบียน สำหรับผู้ใช้ที่ประสงค์จะป้อนกลับข้อมูลข่าว ต้องมีการลงทะเบียนไว้ด้วยเพื่อระบุตัวตน ให้มีความมั่นใจในการให้ข้อคิดเห็น และระบบมีการป้องกันการบุกรุกโดยใช้ซอฟต์แวร์แบบเปิด ได้แก่ Fail2ban ป้องกันเซิร์ฟเวอร์ มีไฟร์วอลล์แบบ Uncomplicated Firewall (ufw) กำหนดกฎให้ป้องกัน Hackers และ Bad Bots

 

เว็บแอปพลิเคชันตรวจสอบข่าวที่พัฒนาขึ้นนี้ได้เผยแพร่และเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานเป็นบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2564 สรุปจำนวนการใช้เว็บตรวจสอบข่าวระหว่างวันที่ 2 เมษายน ถึง 30 พฤษภาคม 2564 มีจำนวนการตรวจสอบข่าวรวม 67,825 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 1,150 ครั้ง เรื่องที่ตรวจสอบเป็นเรื่องเกี่ยวกับการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น สถานการณ์การระบาด วัคซีนโควิด-19 สมุนไพรและแพทย์แผนไทยในการรักษาโควิด-19 เรื่องผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เรื่องเหตุการณ์และถานการณ์ทีมีการรายงานข่าวในช่วงเวลานั้น ๆ