สำนักข่าวตรวจสอบ ‘เฟคนิวส์’ น้อย เมื่อเทียบบทบาทสื่อสังคมออนไลน์
ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีส่วนทำให้เกิดข่าวปลอม (Fake news) มากขึ้น เพราะช่องทางการสื่อสารหลากหลายขึ้น และได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมยุคโซเชียลมีเดียทั่วโลก เนื่องจากการเสพข่าวปลอมส่งผลให้ผู้คนหลงเชื่อ เกิดความสับสนในข้อมูล สร้างความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง จึงมีความพยายามในการตรวจสอบและจัดการข่าวปลอมให้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายข่าวในวงกว้าง
ตัวอย่างองค์กรหรือหน่วยงานในบ้านเราที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอมเพื่อสร้างสังคมรู้เท่าทันสื่อ อย่างเช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์, CoFact ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม รวมถึงเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ
การศึกษาข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ภายใต้ “โครงการฐานข้อมูลต้นแบบเพื่อการรับมือกับข่าวปลอม” โดยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลต้นแบบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของแหล่งข้อมูลข่าวสาร (Fact-checking) และเพื่อสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติในการสร้างองค์ความรู้และกลไกในการแก้ปัญหาข่าวปลอม จึงมีความน่าสนใจ คอลัมน์ #FactCheck จึงนำผลการศึกษาข่าวปลอมของโครงการมานำเสนอ
ข่าวปลอมประเด็นทางการเมือง
ทีมวิจัยของโครงการได้หยิบยกข่าวปลอมประเด็นทางการเมืองมาทำการศึกษา ประกอบด้วย 3 ข่าว ได้แก่
1. ข่าวปลอมว่าด้วยทักษิณพูดคุยโทรศัพท์กับธนาธรก่อนการเลือกตั้ง
2.ข่าวปลอมว่าด้วยตำรวจสเปรย์สีถนน
3.ข่าวปลอมว่าด้วยนักเรียนโรงเรียนเทพศรินทร์ชุมนุมปกป้องสถาบันฯ
ทั้งสามข่าวดังกล่าวเป็นลักษณะข่าวการเมืองที่มีการใช้คลิปเสียงและภาพในการสร้างความเข้าใจผิดและตอกย้ำความเกลียดชัง ภายใต้กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง (Socialization) เพื่อให้เกิดการแยกขั้วและแบ่งเขาแบ่งเรา ที่เข้าข่ายการเป็น Disinformation คือข่าวปลอมที่เป็นอันตราย และสามารถยกระดับเป็น Hate speech และ Hate crime ได้
สามประเด็นข้างต้นสะท้อนถึงบทบาทการตรวจสอบข่าวปลอมของสำนักข่าวที่ไม่ทำงานเชิงรุกในประเด็นการแก้ข่าวการเมืองสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับบทบาทของประชาชนชาวเน็ตที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบข่าวปลอมทางการเมืองที่ล่อแหลม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ในแต่ละประเด็นข่าวดังกล่าวแล้ว พบรายละเอียด ดังนี้
ข่าวปลอมทักษิณคุยกับธนาธร
เนื้อหาข่าว: เป็นข่าวปลอมนำเสนอโดยสานักข่าวเนชั่น ว่าด้วยคลิปเสียงธนาธรคุยกับทักษิณ
รูปแบบความปลอมของเนื้อหา: ใช้คลิปเสียงตัดต่อนำเสนอผ่านรายการข่าวโทรทัศน์ของช่องเนชั่นทีวี
ระยะเวลาการแพร่กระจาย (Viral): ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – 23 ตุลาคม 2562 (4 วัน)
แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวปลอม: รายการข่าวช่องเนชั่น
แพลตฟอร์มที่ตรวจสอบข่าวปลอม: รายการโทรทัศน์
ใครเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอม: การตรวจสอบข่าวปลอมดำเนินการโดยการเช็คข่าวปลอม โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป หรือต่อไปนี้จะเรียกว่า Crowdsource เป็นหลัก แล้วนำไปสู่การสัมภาษณ์โดยสื่อกระแสหลักกับแหล่งข่าวที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับคลิปเสียงนั้น ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ข้อความตรวจสอบข่าวปลอม 189 เนื้อหาออกมาจาก Crowdsource เพื่อสู้กับกระแสข่าวปลอมที่มีเพียง 3 เนื้อหา ซึ่งข่าวปลอมดังกล่าวออกมาจากสำนักข่าวผ่านรายการโทรทัศน์ ข่าวข้น คนเนชั่น
จากการวิเคราะห์พบว่า เนื้อหาปลอมชิ้นนี้มาจากรายการข่าวโทรทัศน์ ซึ่งนำเสนอในคืนวันที่ 19 มีนาคม 2562 และมีการแก้ข่าวโดยแหล่งข่าวผู้ได้รับความเสียหายในสถานีช่องดังกล่าวในเช้าวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม Top engagement ที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวดังกล่าวโดยสำนักข่าวบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและยูทูบ ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างพันทิปและทวิตเตอร์กลับพบว่าบทบาทของ Crowdsource มีค่อนข้างสูง และรวดเร็วกว่าการตรวจสอบของสำนักข่าวค่อนข้างมาก
ปัจจัยการจบ Viral ของข่าวปลอม: เกิดจากการสัมภาษณ์ของผู้เสียหายในวันที่ 20 มีนาคม 2562
ข่าวปลอมตำรวจสเปรย์สีบนพื้นถนน
เนื้อหาข่าว: ภาพตำรวจพ่นสเปรย์ถนนตรงแยกลาดพร้าวว่า #ภาษีกู
รูปแบบความปลอมของเนื้อหา: ใช้ภาพจริงแต่เนื้อหาปลอม
ระยะเวลาการแพร่กระจาย (Viral): ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม – 19 ตุลาคม 2563 (3 วัน)
แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวปลอม: ทวิตเตอร์
ใครเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอม: การตรวจสอบข่าวปลอมดำเนินการบนเฟซบุ๊ก โดยสำนักข่าวสปริงนิวส์ รวมถึง Crowdsource ที่เป็นเพจส่วนตัวของนักการเมือง และเพจ influencer (บล็อกเกอร์หรือบุคคลบนโลกออนไลน์อื่น ๆ ที่มีผู้ติดตามมากพอที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคมได้) ในขณะที่ทวิตเตอร์มีการแก้ข่าวโดย Crowdsource และในยูทูบมีการตรวจสอบข่าวปลอมโดยสำนักข่าว ทั้งนี้จากฐานข้อมูลพบว่า ข้อความตรวจสอบข่าวปลอม 43 เนื้อหา ข่าวปลอม 3 เนื้อหา (ข่าวปลอมออกมาจาก crowdsource)
Top Engagement (การมีส่วนร่วมกับเนื้อหามากสุด) เปรียบเทียบระหว่างข่าวปลอมกับการตรวจสอบข่าวปลอม: จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาที่เป็น Top engagement ในเนื้อหาดังกล่าวของทั้งแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ เป็นเนื้อหาการตรวจสอบข่าวปลอม จากทั้งกลุ่มสำนักข่าวและ Crowdsource อย่างไรก็ตามเนื้อหาข่าวปลอมถูกทวิตโดย Crowdsource
จากการวิเคราะห์พบว่า เนื้อหาปลอมอยู่ในทวิตเตอร์เป็นหลัก โดยยอดแชร์อยู่ที่ 2,099 แชร์ ในขณะที่การแก้ข่าวมาจากสำนักข่าวเป็นหลัก คือ สำนักข่าวสปริงนิวส์ในเฟซบุ๊กที่มียอดแชร์อยู่ที่ 2,005 แชร์ (น้อยกว่ายอดแชร์ข่าวปลอม) และสำนักข่าวเรื่องเล่าเช้านี้บนยูทูบที่มียอดวิวอยู่ที่ 6,910 วิว ทั้งนี้การแก้ข่าวจาก Crowdsource ที่เป็นทวิตเตอร์สร้างยอดแชร์ได้สูงสุดคือ 58,725 แชร์ และดำเนินการหลังข่าวปลอมเผยแพร่ได้ฉับพลันที่สุดเมื่อเทียบกับการรายงานของสำนักข่าว
ปัจจัยการจบ Viral ของข่าวปลอม: เกิดจากการแถลงข่าวของ กอร.ฉ. หรือกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในวันที่ 19 ตุลาคม 2563
ข่าวปลอมนักเรียนเทพศรินทร์ปกป้องสถาบันฯ
เนื้อหาข่าว: ภาพนักเรียนโรงเรียนเทพศรินทร์ชูกำปั้นปกป้องสถาบัน โดยมีเนื้อหาชื่นชมนักเรียนกลุ่มนี้พร้อมด้วย #นักเรียนดีสู้ๆๆๆๆ และ #พลังนักเรียนดี
รูปแบบความปลอมของเนื้อหา: ใช้ภาพจริงซึ่งเป็นภาพเก่า แต่เขียนเนื้อหาปลอม
ระยะเวลาการแพร่กระจาย (Viral): ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม – 4 ธันวาคม 2563 (2 วัน)
แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวปลอม: เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
แพลตฟอร์มที่ตรวจสอบข่าวปลอม: เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
ใครเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอม: ตรวจสอบจาก Crowdsource และไม่พบการตรวจสอบข่าวปลอมจากสำนักข่าวแต่อย่างใด
Top Engagement เปรียบเทียบระหว่างข่าวปลอมกับการตรวจสอบข่าวปลอม: จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาที่เป็น Top engagement ในเนื้อหาดังกล่าวของทั้งแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เป็นเนื้อหาการตรวจสอบข่าวปลอม อย่างไรก็ตามเนื้อหาข่าวปลอมคือเนื้อหาที่มีการมีส่วนร่วมสูงในลำดับรองลงมาในทั้งสองแพลตฟอร์ม
จากการวิเคราะห์พบว่า เนื้อหาข่าวจริงมีการตอบสนอง (reaction) ที่สูงกว่าเนื้อหาข่าวปลอมและมียอดแชร์ที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กยอดแชร์ของข่าวจริงสูงกว่ายอดแชร์ข่าวปลอมเพียง 1.3 เท่า ในขณะที่ทวิตเตอร์นั้นมียอดแชร์ของข่าวจริงสูงกว่ายอดแชร์ข่าวปลอมถึง 14.1 เท่า ซึ่งสะท้อนความรู้เท่าทันของคนบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในประเด็นข่าวปลอมที่มีมากกว่า
ปัจจัยการจบ Viral ของข่าวปลอม: ประกาศแถลงการณ์ของโรงเรียนเทพศรินทร์ นนทบุรี ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2563
ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตฉุกเฉิน
โครงการดังกล่าวยังทำการศึกษาข่าวปลอมที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตฉุกเฉิน 3 กรณี ได้แก่
1.ข่าวปลอมการล้อมปราบนิสิต นักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.ข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจกีดขวางรถพยาบาลจนมีผู้เสียชีวิต
3.ข่าวการปั๊มหัวใจเด็กในพื้นที่การชุมนุม
ทั้งสามข่าวสะท้อนให้เห็นถึงการแพร่กระจายของข่าวปลอมที่มีปริมาณมาก เมื่อเทียบกับกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอม ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสภาวะสุญญากาศด้านข้อมูลข่าวสารและอารมณ์ร่วมของผู้ส่งสารที่มีแนวโน้มจะเชื่อถือข่าวที่อาจเป็นภัยหรือคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในช่วงเวลานั้น โดยในแต่ละกรณีศึกษามีรายละเอียด ดังนี้
ข่าวปลอมล้อมปราบนิสิตนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื้อหาข่าว: มีการล้อมปราบผู้ชุมนุมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบของการเตือนภัย
รูปแบบความปลอมของเนื้อหา: เป็นการเตือนภัยให้กลับเคหะสถาน
ระยะเวลาการแพร่กระจาย (Viral): ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 17 ตุลาคม 2563 (2 วัน)
แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวปลอม: เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
แพลตฟอร์มที่ตรวจอบข่าวปลอม: เฟซบุ๊ก
ใครเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอม: เพจเฟซบุ๊กของอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ในสภาวการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ในฐานข้อมูลที่ทำการศึกษาพบว่า ข่าวปลอมแพร่กระจายถึง 88 ข่าว สวนทางกับการตรวจสอบข่าวปลอมที่มีแค่ 5 ข่าว ซึ่งมาจากการตรวจสอบของ crowdsource เพียง 2 เนื้อหาและจากสำนักข่าวเพียง 3 เนื้อหา
Top Engagement เปรียบเทียบระหว่างข่าวปลอมกับการตรวจสอบข่าวปลอม: จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาที่เป็น Top engagement ในเนื้อหาข่าวปลอมอยู่บนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก โดยในกลุ่มเนื้อหาที่ได้ยอดการมีส่วนร่วมสูงสุด 3 อันดับ ไม่มีเนื้อหาใดที่เป็นเนื้อหาตรวจสอบข่าวปลอมเลย ทั้งนี้เนื้อหาที่เข้าไปศึกษาในเฟซบุ๊ก พบว่ามาจากบัญชี Unknown ในขณะที่บัญชีในทวิตเตอร์ที่เผยแพร่ข่าวปลอมกระทำโดย Crowdsource ซึ่งมีการแชร์เนื้อหาดังกล่าวถึง 4,993 ครั้งในช่วงเวลาก่อนหน้าการโพสต์ของเฟซบุ๊กถึง 20 นาที
อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวถูกแก้และตรวจสอบโดยเพจเฟซบุ๊กของอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจัยการจบ Viral ของข่าวปลอม: สำหรับกรณีนี้ปัจจัยที่ทำให้ข่าวปลอมจบเกิดจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ Crowdsource ของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไม่ปรากฎเนื้อหาข่าวปลอมดังกล่าวบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ โดยการเอาเนื้อหาดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม
ข่าวปลอมเจ้าหน้าที่ตำรวจกีดขวางรถพยาบาลจนมีผู้เสียชีวิต
เนื้อหาข่าว: มีการปิดกั้นไม่ให้รถพยาบาลวิ่งผ่านม็อบจนเป็นเหตุให้หญิงท้องแก่เสียชีวิต
รูปแบบความปลอมของเนื้อหา: การทวิตข้อความระบุเนื้อหาข่าวปลอมพร้อมอารมณ์
ระยะเวลาการแพร่กระจาย (Viral): ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 19 ตุลาคม 2563 (4 วัน)
แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวปลอม: ทวิตเตอร์
แพลตฟอร์มที่ตรวจอบข่าวปลอม: เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูบ โดยสำนักข่าว
ใครเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอม: สำนักข่าว Workpoint Today/ MGR Online/ Spingnews/ เรื่องเล่าเช้านี้ ทั้งนี้จากฐานข้อมูลพบว่า มีการเผยแพร่ข่าวปลอมดังกล่าวถึง 46 ข่าว และมีการตรวจสอบข่าวดังกล่าวทั้งสิ้น 27 เนื้อหา โดยมาจาก crowdsource 19 เนื้อหา และมาจากสำนักข่าว 8 เนื้อหา
Top Engagement เปรียบเทียบระหว่างข่าวปลอมกับการตรวจสอบข่าวปลอม: จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาที่เป็น Top engagement ในเนื้อหาข่าวปลอมอยู่บนทวิตเตอร์เผยแพร่โดย Crowdsource ในขณะที่เนื้อหาการตรวจสอบข่าวปลอมที่ได้ยอดการมีส่วนร่วมสูงสุด ได้แก่ 1) Workpoint Today บนเฟซบุ๊ก 2) Spring News บนเฟซบุ๊ก 3) MGR Online บนอินสตาแกรม และ 4) เรื่องเล่าเช้านี้บนยูทูบ
จากการวิเคราะห์พบว่า เนื้อหาข่าวปลอมอยู่บนทวิตเตอร์เป็นหลัก โดยยอดแชร์อยู่ที่ 3,262 แชร์ ในขณะที่การแก้ข่าวปลอมนั้นมีเนื้อหาผ่านสำนักข่าวแต่ละสำนักข่าวได้ใช้ทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งพบว่ายอดตอบสนองเรียงลำดับ ดังนี้ คือ 1) Workpoint Today บนเฟซบุ๊กมียอดตอบสนอง 8,738 ครั้งและยอดแชร์ 939 ครั้ง 2) Spring News บนเฟซบุ๊กมียอดตอบสนอง 3,164 ครั้งและยอดแชร์ 234 ครั้ง 3) MGR Online บนอินสตาแกรมมียอดตอบสนอง 702 ครั้ง และ 4) เรื่องเล่าเช้านี้บนยูทูบมียอดตอบสนอง 777 ครั้ง
ปัจจัยการจบ Viral ของข่าวปลอม: สำหรับกรณีนี้ปัจจัยที่ทำให้ข่าวปลอมจบเกิดจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักข่าวพร้อมการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวบนพื้นที่สำนักข่าวนั้น ๆ และการไม่ปรากฎเนื้อหาข่าวปลอมดังกล่าวบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ โดยการเอาเนื้อหาดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม
ข่าวปลอมปั้มหัวใจเด็กในพื้นที่การชุมนุม
เนื้อหาข่าว: มีการปั๊มหัวใจเด็กในพื้นที่การชุมนุมอันเนื่องมาจากแก๊สน้ำตา
รูปแบบความปลอมของเนื้อหา: ทวิตข้อความปลอมบนทวิตเตอร์ โดยอ้างอิงจากสำนักข่าวออนไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
ระยะเวลาการแพร่กระจาย (Viral): ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 19 ตุลาคม 2563 (4 วัน)
แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข่าวปลอม: ทวิตเตอร์
แพลตฟอร์มที่ตรวจอบข่าวปลอม: เฟซบุ๊ก
ใครเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอม: สำนักข่าว The Reporter ทั้งนี้จากฐานข้อมูลการศึกษาในกรณีข่าวการปั้มหัวใจเด็นในพื้นที่การชุมนุมนั้นมีการเผยแพร่ข่าวปลอมทั้งสิ้น 8 ข่าวและมีการตรวจสอบข่าวปลอมเพียง 6 ข่าว โดยมาจาก crowdsource 2 เนื้อหาและจากสำนักข่าว 6 เนื้อหา
Top Engagement เปรียบเทียบระหว่างข่าวปลอมกับการตรวจสอบข่าวปลอม: จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาที่เป็น Top engagement ในเนื้อหาข่าวปลอมอยู่บนทวิตเตอร์ เผยแพร่โดย Crowdsource ในขณะที่เนื้อหาข่าวจริงอยู่บนเฟซบุ๊ก โดยสำนักข่าว The Reporter
จากการวิเคราะห์พบว่า เนื้อหาปลอมอยู่ในทวิตเตอร์เป็นหลัก โดยยอดแชร์อยู่ที่ 84,625 แชร์ ในขณะที่การแก้ข่าวปลอมนั้นมีเนื้อหาผ่านสำนักข่าวที่ถูกพาดพิง โดยมีการแก้ข่าวในวันถัดมาและมียอดแชร์อยู่ที่ 218 แชร์ โดยการแชร์ดังกล่าวทำในเฟซบุ๊กเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในทวิตเตอร์ก็มีบัญชี Crowdsource ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว แต่ไม่นับว่าเป็นการตรวจสอบข่าวแต่อย่างใด
ปัจจัยการจบ Viral ของข่าวปลอม: สำหรับกรณีนี้ปัจจัยที่ทำให้ข่าวปลอมจบ เกิดจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักข่าวพร้อมการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวบนพื้นที่สำนักข่าวนั้น ๆ และการไม่ปรากฎเนื้อหาข่าวปลอมดังกล่าวบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ โดยการเอาเนื้อหาดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม
องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาโมเดล Fact-Checking
ข่าวปลอมที่มีความล่อแหลมทางการเมือง ไม่ว่าจะกรณีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทักษิณ ชินวัตร พบว่า การตรวจสอบข่าวปลอมเป็นบทบาทของ Crowdsource เป็นหลัก โดยสำนักข่าวหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข่าวปลอมในประเด็นนี้
1.ข่าวปลอมในภาวการณ์ฉุกเฉิน เช่น การชุมนุมมีปริมาณและการแพร่กระจายที่รวดเร็วกว่าข่าวจริง
2.องค์กรข่าวและนักวิชาชีพสื่อยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบข่าวที่มาจากต่างประเทศ
3.ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีการแพร่กระจายเนื้อหาข่าวปลอมบ่อยที่สุด และสร้างการมีส่วนร่วมกับเนื้อหาสูงสุด แต่แพลตฟอร์มทวิตเตอร์ก็มีการนำข่าวปลอมออกจากระบบ แต่ก็ยังไม่สามารถลบข่าวปลอมออกจากระบบได้ 100%
4.กรณีข่าวปลอมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความเสียหาย การแถลงข่าวอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยหยุดยั้งข่าวปลอมดังกล่าวได้ ทั้งนี้พบว่ากรณีข่าวปลอมนั้นเกิดขึ้นกับฝั่งรัฐ การแก้ข่าวจะได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนมากกว่ากรณีข่าวปลอมเกิดขึ้นกับประชาชนหรือสถาบันการศึกษา
5.เนื้อหาข่าวปลอมต้องใช้ความร่วมมือระหว่างแหล่งข่าว สำนักข่าว รวมถึงแพลตฟอร์มในการหยุดยั้งข่าวดังกล่าวในการแพร่กระจาย การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวปลอมระหว่างแหล่งข่าว สำนักข่าว และแพลตฟอร์มจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการตรวจสอบข่าวปลอมได้อย่างทันท่วงที การเชื่อมโยงสามารถทำได้หลายระดับ เช่น แหล่งข่าวมีช่องทางในการกระจายข่าวที่ชัดเจนและเป็นทางการ สำนักข่าวและหน่วยงานตรวจสอบข่าวปลอมมีระบบ API เพื่อขอการยืนยันข้อเท็จจริงของข่าว เป็นต้น
หมายเหตุ -การเช็คข่าวปลอมโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (Crowdsource) , การเช็คข่าวปลอมโดยองค์กรข่าวและนักวิชาชีพสื่อ (Professional Journalist)